สืบเนื่องจากมติที่ประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 เห็นชอบหลักการให้มีเขตพื้นที่การศึกษา(มัธยมศึกษา) โดยให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการ ประกาศจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษา(มัธยมศึกษา) สำหรับจำนวนเขตพื้นที่การ ศึกษา(มัธยมศึกษา) ควรสอดคล้อง กับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แบบกลุ่มจังหวัดจำนวน 18 กลุ่ม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปดำเนินการ รวมทั้งมาตรการระยะสั้นให้ดำเนินการไปพลางก่อน เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้การจัดการมัธยมศึกษาได้ขับเคลื่อนต่อไปอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตาม มติของสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดมาตรการระยะสั้น ในการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพการมัธยมศึกษาและการบริหารงานบุคคล โดยมาตรการระยะสั้นดังกล่าว กำหนดให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา ให้มีเครือข่ายการนิเทศการมัธยมศึกษาและกำหนดตัวบ่งชี้คุณภาพความสำเร็จการจัดการมัธยมศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบในมาตรการระยะสั้นและได้ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องกำหนดศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2552 ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษาขึ้น และต่อมาสภาผู้แทนราษฏรได้ผ่านพรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 12 กรกฏาคม พ.ศ.2553 โดยให้มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคำนึงถึงระดับของการศึกษาขึ้นพื้นฐาน แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศแบ่งเขตพื้นที่การศึกษา ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อการบริหารและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาจำนวน 42 เขต จังหวัดตรังและกระบี่เป็นเขตที่ 13 จนถึง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564
และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศ เรื่อง การกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพิ่มเติมจากเดิม 42 เขต เป็นจำนวน 62 เขต ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้ยกเลิกประกาศ เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และประกาศ เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ณ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และให้ไปสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตามประกาศฉบับนี้แทน โดยเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่ ประกอบด้วยท้องที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองตรัง
เอกสารอ้างอิง
**ราชกิจจาฯ ประกาศกระทรวงฯ การกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564)
**พ.ร.บ การศึกษา
**ราชกิจจาฯ ประกาศกระทรวงฯ การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษา
**ราชกิจจาฯ ประกาศกระทรวงฯ การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา